
วันที่ 12 และ 19 มกราคม 2568 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์มโนลี ศรีเปารยะ เพ็ญพงษ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมด้วยนักศึกษาหลักสูตรเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 9 คน ได้จัดกิจกรรมบูรณาการห้องเรียนวิศวกรสังคมเพื่อการจัดการ อนุรักษ์ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงเศรษฐศาสตร์แบบมีส่วนร่วม ณ ตำบลบางไทร อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ร่วมกิจกรรมจำนวน 20 คน
กิจกรรมนี้มุ่งเน้นการใช้เครื่องมือวิศวกรสังคมและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์สำรวจสภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อค้นหาประเด็นปัญหา (Pain Point) ด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ทฤษฎีการสะกิด (Nudge Theory) เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ออกแบบทฤษฎี และทดลองประยุกต์ใช้ในพื้นที่จริง
ผลจากการจัดกิจกรรมนี้ ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเข้าใจปัญหาหรือความต้องการของชุมชนโดยตรง พัฒนาทักษะการสื่อสารและการสร้างสัมพันธ์ รวมถึงการประยุกต์ใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม
ที่สำคัญคือการเข้าใจทฤษฎีการสะกิดและหลักการประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ที่ส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกโดยไม่บังคับ เช่น การจัดวางถังขยะให้เข้าถึงง่ายขึ้น หรือการติดป้ายกระตุ้นการประหยัดพลังงาน รวมถึงการออกแบบนโยบายการสะกิดให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายในชุมชน
จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้นำไปสู่การเกิดโครงการวิจัย 2 เรื่อง ได้แก่ โครงการวิจัยเรื่อง “การประเมินมูลค่าความเต็มใจจะจ่ายในการจัดการขยะ” และโครงการวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการกำจัดขยะต้นทางของครัวเรือน” ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาการจัดการและองค์การบริหารส่วนตำบลบางไทร อันจะนำไปสู่การสร้างกลไกการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนและพัฒนาเป็นผลงานวิชาการรับใช้สังคมต่อไป
รายงานโดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์มโนลี ศรีเปารยะ เพ็ญพงษ์


