ทีมสุขสุราษฎร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สร้างชื่อคว้ารางวัลรองชนะเลิศ ประเภทคิดดี จากการประกวดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โดยนำเสนอผลงานการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนแปรรูปบ้านทับชัน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แนวคิด “ระบบหมุนเวียนพลังงานชีวภาพ เตาแก๊สจาน้ำมันเก่า ซึ่งเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน จากการเข้าร่วมนำเสนอผลงานในโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2567 ณ โรงแรมแกรนริชมอนด์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
ผศ.เตชธรรม สังข์คร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำองค์ความรู้จากห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ความสำเร็จของทีมสุขสุราษฎร์ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น ทางคณะวิทยาการจัดการขอขอบคุณธนาคารออมสินที่ได้จัดโครงการดีๆ เช่นนี้ขึ้น และหวังว่าจะได้รับโอกาสในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตามเป้าประสงค์ของธนาคารออมสินในการสร้างคุณค่าร่วมให้สังคมและพร้อมจะก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
การประกวดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อนำเสนอผลงานระดับประเทศ ทั้งหมด 12 ทีม จากผลิตภัฑณ์และบริการ จำนวน 6 ประเภท กินดี อยู่ดี สวยดี ใช้ดี รักษ์ดี และคิดดี
ประเภทอยู่ดี
– ทีม Young ผการันดูล มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เข้าร่วมพัฒนา วิสาหกิจชุมชนผการันดูล อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์(ชนะเลิศ)
– ทีม Fly Me to the moon มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้าร่วมพัฒนา วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนป่าสักหลวง อ.แม่จัน จ.เชียงราย (รองชนะเลิศ)
ประเภทสวยดี
– ทีม Green Canvas มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เข้าร่วมพัฒนา วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายคลองนาราภิรมย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม (ชนะเลิศ)
– ทีม SUPERIOR มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เข้าร่วมพัฒนา วิสาหกิจชุมชนบ้านแม่ก๊ะเปียง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (รองชนะเลิศ)
ประเภทใช้ดี
– ทีม Robusta Essence มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เข้าร่วมพัฒนา วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านโหนด-บ้านเปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา (ชนะเลิศ)
– ทีม TTM.UDRU TO PEN CITY มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เข้าร่วมพัฒนา วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรท้องถิ่น อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี (รองชนะเลิศ)
ประเภทรักษ์ดี
– ทีม Aroma Charcoal มหาวิทยาลัยทักษิณ เข้าร่วมพัฒนา กลุ่มถ่านไม้หอมสร้างสรรค์ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง (ชนะเลิศ)
– ทีม ฝ้ายคำทำ craft สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เข้าร่วมพัฒนา กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผ้าตีนจกและผ้าทอพื้นเมือง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (รองชนะเลิศ)
ประเภทคิดดี
– ทีม นิลเนเจอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เข้าร่วมพัฒนา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูดำเหมยซาน อ.เทิง จ.เชียงราย (ชนะเลิศ)
– ทีม สุขสุราษฎร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมพัฒนา วิสาหกิจชุมชนแปรรูปบ้านทับชัน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี (รองชนะเลิศ)